หนังสือ
จอตู้ (ต่างแดน) เลาะดูขบวนการปกป้องเด็ก

งานวิจัยเรื่อง "จอตู้(ต่างแดน) เลาะดูขบวนการปกป้องเด็ก" จัดทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงบทบาทและอิทธิพลของโทรทัศน์ที่มีต่อเยาวชนและครอบครัว รวมทั้งสำรวจวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ที่มีต่อการที่เด็กและเยาวชนบริโภคสื่อโทรทัศน์เกินขนาด หรือเกิดอาการเสพติดสื่อโทรทัศน์ ผลสรุปของงานวิจัยนี้ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหา คือ เน้นให้มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน หรือการรวมกลุ่มของครูอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคอยเฝ้าระวังสอดส่องการผลิตรายการ การแพร่กระจายภาพเสียง การโฆษณาชวนเชื่อและคุณภาพของรายการโทรทัศน์ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้มีการผลักดันเรื่องการให้การศึกษาเกี่ยวกับสื่อ (media education) เพื่อการนำมาซึ่งการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ของเยาวชนและประชากรในสังคมไทย และข้อแนะนำให้ผู้ปกครองให้ความใส่ใจกับเด็กในการใช้เวลาให้มีประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือไปจากการดูโทรทัศน์
จากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์สำหรับเด็ก เท่าที่ผ่านมาจะมีรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดกันในประเทศต่างๆ ในปัจจุบันล้วนมีบทบาทหลักในการสร้างและบ่มเพาะพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ทางสังคมให้แก่เด็กๆ การทำให้ความใส่ใจในการเรียนรู้ของเด็กลดลง และการทำให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง อันเนื่องมาจากการการบริโภคอาหารไม่ครบหมู่และขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนเป็นพิษภัยที่เกิดจากพฤติกรรมการดูโทรทัศน์อย่างไม่เหมาะสมทั้งสิ้น จริงอยู่ที่โทรทัศน์สามารถใช้เป็นสื่อที่ดีในการเป็นเครื่องมือพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้การศึกษาเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาให้แก่เด็ก แต่บรรดารายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดกันอยู่นั้น ก็มีบางรายการที่มีโทษมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ปกครองและพ่อแม่ที่ต้องสอดส่อง ให้คำแนะนำ และกำหนดแนวทางในการดูโทรทัศน์ของลูกๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้เลือกสรรดูแต่รายการที่มีคุณค่า ให้ประโยชน์ สร้างเสริมประสบการณ์และพฤติกรรมที่ดี