หนังสือ
ย้อนมอง...สามชุกตลาดร้อยปี...กว่าจะถึงวันนี้

โครงการอนุรักษ์ชุมชนย่านตลาดเก่าสามชุกได้รับรางวัล Award of Merit เนื่องจากแผนฟื้นฟูของโครงการสามชุกนี้ ได้แสดงออกถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และแนวทางที่แสดงถึงความร่วมมือของหน่วยงานท้องถิ่น จนสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ โครงการนี้ทำให้เกิดความตระหนักในวงกว้างของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานขึ้นมาจากรากหญ้า และมีคุณสมบัติที่จะเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ชุมชน ทางประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ ในประเทศไทยได้
ปัจจุบันความตื่นตัวเกี่ยวกับการพลิกฟื้นตลาดเก่าเป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งตลาดในน้ำและตลาดบนบก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังคงเห็นคุณค่าและโหยหาในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังเลือนหายไป
กระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูตลาดร้อยปีสามชุก ทำให้ตลาดเก่าที่ซบเซาไปแล้วพลิกฟื้นชีวิตกลับคืนมาใหม่ได้นั้น เป็นความงดงามที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง เพราะใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เทศบาล วัด โรงเรียน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเกื้อหนุน จนทำให้ตลาดสามชุกกลายเป็น "ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา"
ชาวสามชุกได้ช่วยกันสืบค้นประวัติศาสตร์ การฟื้นฟูภูมิปัญญา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า และสุดท้ายกลายเป็นผลต่อการฟื้นฟูของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในย่านสามชุกเป็นอย่างมาก
วันนี้ตลาดเก่าสามชุกกลายเป็นต้นแบบที่น่าศึกษาในการฟื้นฟูจิตวิญญาณของชุมชน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือขบวนชาวบ้านที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดพลังที่เข้มแข็งจนสามารถร่วมกันผลักดันเป้าหมายให้บรรลุผลได้ในที่สุด และกลายเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน
สิ่งที่สามชุกสะท้อนให้เห็นก็คือ ยุทธศาสตร์การทำงานที่ใช้องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นฐานร่วมกับชุมชนในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่ชุมชนเป็นผู้ร่วมคิด-ร่วมทำ โดยนักพัฒนาประสานหน่วยงานและทรัพยากรด้านต่างๆ ที่มีทั้งด้านวิชาการ เทคนิควิทยา บุคคล และงบประมาณ ฯลฯ รวมทั้งความสามารถในการจัดการให้กับแกนนำนั้น เป็นแนวทางที่ได้ผล มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงบนเงื่อนไขที่บุคลากรแกนนำ/ชุมชนบางส่วนมีพื้นฐานความพร้อมที่จะเสียสละเพื่อสาธารณะ และนักพัฒนาเองเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา/ความต้องการ จังหวะก้าว และศักยภาพของชุมชน
กรณีของสามชุกเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่ชุมชน สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็วเมื่อตระหนักในทุนทางสังคมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นของตน และสามารถปรับใช้นวัตกรรมที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชุมชนอื่นได้อย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญก็คือ ท่ามกลางการเรียนจากการปฏิบัติการจริงเหล่านี้ ชาวชุมชนได้รู้จักท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น "รู้จักสถานะและอัตภาพลักษณะของสังคมตนท่ามกลางสังคมใหญ่" รู้สึกภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน และมีความกระตือรือร้นและจิตสำนึกที่จะขยายการมีส่วนร่วมออกไปสู่ชุมชนท้องถิ่น พร้อมๆ กับการได้รู้จัก เข้าใจและเอื้ออาทรต่อเพื่อนชาวชุมชนอื่น
ที่น่าสนใจก็คือ ชุมชนมีระบบวิธีคิดและมองโลกแบบของตน ภาพรวมเมืองน่าอยู่ในวิธีคิดของชุมชนไม่ได้แยกส่วนออกเป็นด้านๆ แต่มักจะคิดเป็นองค์รวม ที่มีหลายๆ มิติบูรณาการซ้อนกันอยู่ มีวัด/สถาบันศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอย่างสูง กระบวนการพัฒนาเมืองที่จะประสบความสำเร็จต้องคิดถึงประเด็นเหล่านี้