โลกในศตวรรษที่ 21 ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการเตรียมตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะการเรียนรู้
“Lifelong Learning” หรือ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” นั้นนอกเหนือจากการนำไปใช้ด้านขอบเขตวิชาชีพแล้ว ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาตนเอง ช่วยเพิ่มความสามารถทางสติปัญญา เพิ่มทักษะในการตัดสินใจ และมีส่วนส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้
การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นกรอบความคิดที่ควรนำมาเริ่มใช้แต่เนิ่น ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายอีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานสำหรับชีวิตที่สมบูรณ์ได้ในทุกช่วงวัย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวัยใกล้เกษียณ ทุกคนสามารถเริ่มได้ก่อนวัย 40
การเรียนรู้ตลอดชีวิตคืออะไร?
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นแนวทางการศึกษาและพัฒนามนุษย์ที่สำคัญในยุคปัจจุบัน โดยเป็นการนับรวมกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมดของแต่ละบุคคล ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ได้แก่ การรับรู้ ความรู้ ทักษะ และทัศนคติเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่ และสามารถเรียนรู้ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย และหากมีรูปแบบหลากหลายมีความต่อเนื่อง จะช่วยพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
ทำไมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงมีความสำคัญ?
การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาตัวบุคคลในทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมถึงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับอนาคต สามารถทำได้ในทุกช่วงเวลาของชีวิตและทุกสถานที่ ครอบคลุมระบบการศึกษาในทุกประเภทและทุกระดับการศึกษา นับได้ว่าเป็นรูปแบบที่มีความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา
วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายผสมกลมกลืนไปกับวิถีการดำเนินชีวิตและมีเนื้อหาสาระสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ทั้งนี้ทุกคนมีอิสระในการเลือกให้เหมาะสมกับความสามารถของตนเองเพื่อที่จะพัฒนาตนได้อย่างต่อเนื่อง เต็มขีดความสามารถ ความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต
เติมเต็มวัยเกษียณด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การเรียนรู้ตลอดชีวิตเปรียบเป็นกุญแจสู่วัยเกษียณอย่างมีความสุข ช่วยสร้างคุณค่าให้กับตนเองของผู้สูงอายุให้สามารถรู้เท่าทันโลก สามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือยังสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ตามที่สุขภาพกายและสุขภาพจิตเอื้ออำนวย
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีส่วนกระตุ้นสติปัญญา ช่วยให้จิตใจกระตือรือร้น ทำให้เกิดกิจวัตรที่มีความหมายและเติมเต็ม ช่วยให้มีการการเชื่อมต่อทางสังคมและชุมชน เป็นการส่งเสริมความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม เพิ่มพลังใจในการต่อสู้กับความรู้สึกโดดเดี่ยว เกิดความรู้สึกเชิงบวก และมีความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม
การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงเวลาของการใช้ชีวิต และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในชีวิตประจำวันของทุกคน
มีงานวิจัยระบุว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต ช่วยให้มีความพึงพอใจในชีวิตเกษียณ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตหลังเกษียณอายุ ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย คือ การเรียนรู้เพื่อตอบสนองความอยากรู้และความชอบ, การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และการเรียนรู้เพราะความจำเป็น
การเรียนรู้ตลอดชีวิตนับเป็นการวางรากฐานสำหรับการเติมเต็มชีวิตวัยเกษียณและสร้างความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มมากขึ้น
เปิดห้องเรียนพัฒนาตนเอง ปลดล็อกศักยภาพไม่จำกัด (วัย)
ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต’ ได้ ไม่จำกัดวันเวลาหรือสถานที่ มีแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา อย่างเช่น ห้องเรียนออนไลน์โดยองค์กรต่าง ๆ ซึ่งมีหลักสูตรและทรัพยากรมากมายให้ได้รับทักษะและความรู้ใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นชั้นเรียนเหล่านี้
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย, thaimooc.org
เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมากกว่า 100 แห่ง ในการจัดการเรียนการสอนอย่างหลากหลายหมวดหมู่รายวิชา ได้แก่ อาหารและโภชนาการ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ทักษะชีวิตและการพัฒนาตนเอง ธุรกิจและการบริหารจัดการ ภาษาและการสื่อสาร ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา สุขภาพและการแพทย์ และเกษตรและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, elearning.set.or.th
หลักสูตรออนไลน์ทางด้านการเงินที่มีครบถ้วนทั้งเรื่องการบริหารจัดการการเงิน การลงทุน การเป็นผู้ประกอบการและทำธุรกิจ ฯลฯ เหมาะสำหรับมืออาชีพและบุคคลทั่วไป มีเนื้อหาหลากหลายให้ได้เลือกเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ อาทิ การวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน การวางแผนภาษีสไตล์มนุษย์เงินออม หลักการลงทุน หมดหนี้มีออม เป็นต้น
สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ, thaihealthacademy.com
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพที่หลากหลายเพื่อการเติบโต เติมเต็มความสุขและสุขภาวะ ยกระดับให้ทุกคนเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ เรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult Learning) ผ่านหลักสูตรพัฒนาฝึกอบรม 12 ขั้นตอน เช่น ภาวะผู้นํากับการทำงานเป็นทีม, แนวคิดและหลักการสร้างเสริมสุขภาพ, การตลาดเพื่อสังคม, การออกแบบไอเดียงานเพื่อสังคมให้น่าสนใจ, การดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม, การสื่อสารเพื่อความเข้าใจรองรับ Gen ใหม่ เข้าใจ Gen เก่า เป็นต้น
บรรยากาศการเรียนรู้ ในหลักสูตร เรื่องเล่าเพื่อการจัดการความรู้ (Narrative for Knowledge management) ของ Thai Health Academy สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ
ด้วยแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะทำให้ในแต่ละวันของทุกคนกลายเป็นโอกาสในการเติบโต สู่การสร้างอนาคตที่ส่องสว่างด้วยศักยภาพอย่างไร้ขอบเขต มีการค้นพบตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีความสุขตลอดช่วงชีวิต
อ้างอิง:
พิชญา หุยากรณ์, การเปลี่ยนผ่านบทบาทและการเรียนรู้ตลอดชีวิตหลังเกษียณอายุของอาจารย์มหาวิทยาลัย,
24 สิงหาคม 2563, http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2019/TU_2019_5919030113_12582_12860.pdf
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. พัฒนาทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต ตั้งแต่ก่อน 40 ไม่กังวลในวัย
เกษียณ, 27 กรกฎาคม 2566, https://dol.thaihealth.or.th/Media/Pdfview/b3911b52-552c-ee11-80ff-00155db45636