ADVANCESEARCH

ประเด็นเด่น และองค์ความรู้จากงานเสวนา ‘เล่นเรื่องรุ่น: ความวุ่นของโลกหลายใบ บนโจทย์ของคนต่างรุ่น’

09.04.2567
607
Share

เรื่องของคนต่างรุ่นกับความวุ่นวายของโลกหลายใบ

การบรรยายช่วง “เรื่องของคนต่างรุ่นกับความวุ่นวายของโลกหลายใบ”

การเปิดเผยสถิตและข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นโลกของคนหลากรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นมีความแตกต่างในโลกหลายใบ ได้แก่ โลกช่วงวัย โลกทัศน์ โลกดิจิทัล อันเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นความขัดแย้งที่นำมาซึ่งประเด็นที่น่าจับตาต่างๆ ดังนี้

  • ประชากรไทยอายุมากกว่า 60 ปี (ปี พ.ศ. 2565) มีจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด (ปี พ.ศ. 2535) ถึง 22 % และใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางสังคมและโลกออนไลน์มากขึ้นในหลายมิติ
  • เยาวชนไทยมีปัญหาขัดแย้งกับคนในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการศึกษา การทำงาน ชีวิตประจำวัน และทัศนคติทางสังคมและความคิดเห็นทางการเมือง
  • เด็กยิ่งโต ยิ่งขัดแย้งกับคนในครอบครัวมากที่สุด อันดับหนึ่ง คือ เรื่องการศึกษาและการทำงาน อันดับสอง คือ เรื่องการเมืองและสังคม อันดับสาม คือ เรื่องศาสนาและจริยธรรม
  • เวลามีผลกับการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของ ‘รุ่น’ ค่านิยมที่ว่า ‘ให้เด็กเป็นของตัวเอง’ ในอดีต ทุกรุ่นมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันหมดว่า ‘เด็กควรมีความคิดเป็นของตัวเอง’ แต่ข้อมูลล่าสุดปี 2018 จากการสำรวจค่านิยมระดับโลก (World Value Survey) ของ สถาบันพระปกเกล้า พบว่าประชากรรุ่น Gen Z ส่วนใหญ่ตอบว่าเด็กควรมีความคิดเป็นของตัวเอง ในขณะที่ประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เริ่มเห็นด้วยกับคำตอบว่า ‘เด็กควรเป็นตัวของตัวเอง’ น้อยลง รวมถึงค่านิยมเรื่องเพศ LGBTQ ที่ประชากรอายุก่อน 60 ปี เปิดใจรับกับค่านิยมทางเพศยุคใหม่ ในขณะที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเพียง ‘ครึ่งเดียว’ ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
  • ความเหลื่อมล้ำของพื้นที่การแสดงความคิดเห็นของเยาวชน เยาวชนสามารถเข้าถึงพื้นที่ถกเถียงทางโลกออนไลน์และสาธารณะง่ายที่สุด กว่าช่องทางอื่นๆ และเยาวชนที่มีรายได้สูง มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองมากกว่าเยาวชนที่มีรายได้น้อย
  • คนต่างรุ่นเสพสื่อและข้อมูลข่าวสารจากโลกของแหล่งข่าวต่างกัน โดยประชากรอายุยิ่งน้อย ยิ่งเสพข่าวสารจากหลายช่องทาง ในขณะที่ประชากรสูงวัยนิยมเสพข่าวจากสำนักข่าว รวมถึงคนต่างรุ่นยังนิยมใช้แอปพลิเคชั่นในการติดต่อสื่อสารที่แตกต่างกัน จากผลสำรวจ YouGov แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเด็ก ยิ่งใช้แอปพลิเคชัน Line น้อยกว่าผู้ใหญ่ และยิ่งเด็ก ยิ่งใช้โซเชียลมิเดียหลากหลาย

 

ครอบครัวข้ามรุ่น

 

ดังนั้น เมื่อประชากรแต่ละช่วงวัยมีโลกทัศน์และค่านิยมทางความคิดที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดโอกาสขัดแย้งกันได้ง่าย โดยเฉพาะการสื่อสารในโลกดิจิทัลที่ง่ายต่อการกระตุ้นเร้าทางอารมณ์ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ จากผลสอบคะแนนของ PISA ฟ้องว่าเด็กไทยรั้งท้ายด้านการอ่านกรองข่าวเท็จ (ประเทศไทยอยู่อันดับ ที่ 78 จาก 79 อันดับ) รวมถึงสอบตกด้านทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์ ซึ่งการจะประสานคนต่างรุ่นกับโลกหลายใบเข้าหากัน จำเป็นต้องเปิดพื้นที่การส่งเสียง-รับฟัง Echo Chamber ที่หลากหลายสำหรับคนต่างรุ่น โดยมีเป้าหมายคือการเรียนรู้ที่จะยอมรับคุณค่าความแตกต่าง และการยกระดับบทสนทนาที่เป็นมิตรกันในสังคมและโลกดิจิทัล 

กิจกรรมเสวนาช่วง “ช่องว่างระหว่างวัยภาพสะท้อนความห่างกันทางอำนาจของคนต่างรุ่น”

 

ช่องว่างระหว่างวัยภาพสะท้อนความห่างกันทางอำนาจของคนต่างรุ่น

 

เจาะลึกแนวคิดจับเข่าคุยกันกับคนต่างวัยอย่างไรให้ได้ผล ทำอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมโลกหลายใบของคนต่างรุ่น และสลายความขัดแย้งได้ เมื่อคนแต่ละรุ่นมีการมองโลกที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณค่า ความไว้วางใจ การรับข้อมูล หรือการแสดงออก 

  • สังคมยึดติดกับดัก ใช้ อายุ เป็นตัวแบ่งความคิด อายุ หรือรุ่น เป็นตัวการลดทอน ปลุกเร้าอารมณ์ และปลุกปั่นคนพวกเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การลดทอนความชอบธรรมของคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะในโลกดิจิทัลที่เรามองไม่เห็นคนอีกฝ่าย กับทัศนคติที่ว่า “คนแก่ ความรู้เก่า ไม่ทันโลก” และ “เด็กโดนหลอกง่าย ยังไม่เข้าใจโลก” 
  • อายุไม่ใช่ตัวชี้ขาด แม้รุ่นเดียวกันก็มองต่างได้ เหตุการณ์ม็อบเยาวชน ปี 2563-2564 สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดจากการมองคุณค่า ความคิด และทัศนคติ ที่ต่างกัน อันเป็นปัจจัยเบื้องหลังของความขัดแย้งทางการสื่อสารของคนหลากรุ่นต่อการเมือง
  • ความเห็นต่าง มาได้จากหลากหลาย จากงานวิจัย ‘คิดใหม่ การเมือง เรื่องรุ่น’ โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, ทิพย์นภา หวนสุริยา และภาคิน นิมมานนรวงศ์ ได้ข้อสรุปว่า รุ่นทางอายุ ≠ รุ่นทางการเมือง โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ผลจากช่วงชีวิต ผลจากช่วงเวลา และผลจากรุ่น
  • เราสามารถสร้างสังคมที่อยู่ด้วยกัน ท่ามกลางความหลากหลายได้ด้วย “จินตนาการพลเมือง” (Civil Imagination) เราสามารถลดความขัดแย้งทางการสื่อสารของคนต่างรุ่นได้โดยใช้เทคนิค “จินตนาการพลเมือง” ของ เฮนรี เจนกินส์ ที่เป็นการถอดอัตลักษณ์ตัวตนของทุกคนออก แล้วเปิดบทสนทนาด้วยจินตนาการเป็นสารตั้งต้น เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่มีใครมากำหนดคุณค่าสูงสุด หรือกำหนดว่าสิ่งใดเป็นไปได้หรือไม่ได้จริง จะช่วยสลายความแตกต่างได้ คนในครอบครัวที่มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน อยู่ในพื้นเพเศรษฐกิจใกล้เคียงกันจะคิดไปในทางเดียวกันและมองภาพของโลกอุดมคติไม่แตกต่างกันมาก 
  • ‘พลวัตรอำนาจ’ เป็นเหตุให้การพูดคุยไม่เกิดผล หากเป็นการสื่อสารระหว่างคนที่มีอำนาจเท่าเทียมกัน จะสามารถคุยกันได้ง่าย แต่หากเรามีอำนาจไม่เท่ากัน แต่ต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจเดียวกัน เช่น พ่อกับลูก ที่พ่อมีอำนาจเหนือชีวิตลูก ท้ายที่สุดจะนำไปสู่ปลายทางแห่งความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกระดับสังคม ไม่ใช่แต่ในระดับสังคมครอบครัวเท่านั้น นอกจากนี้คนมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งเป็นรากลึกต้นตอของการปะทะคารมกันของผู้คนตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ เช่น คนรุ่นเก่ามองว่าคนรุ่นใหม่ขยันทำมาหากินไม่พอ จึงประสบความสำเร็จได้ยาก ซึ่งมาจากปัญหาการเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งและปัจจัย 4 ในยุคปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทำอย่างไรให้คนในสังคมรู้สึกว่าไปด้วยกันได้ ทุกคนมีพื้นที่มีที่ทางของตัวเอง จึงจะสามารถลดปัญหาต่างๆ ได้
  • แก้ปัญหาได้ด้วยการ ‘สร้างแนวร่วม เปลี่ยนสังคม’การให้อำนาจในการต่อรองและให้พื้นที่การพูดคุยอย่างเท่าเทียมกัน และการทำให้สังคมเกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยอมรับในปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายมิติของประเทศ และปรับให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เท่ากัน ดังเช่นคำพูดของจอห์น ลอร์ ที่ว่า “A Society regulated by a public sense of justice is inherently stable” (สังคมที่มีการกำกับดูแลด้วยเซนส์ของความยุติธรรมเพื่อส่วนรวม จะเป็นสังคมที่มีเสถียรภาพในตัวมันเอง)

กิจกรรมเสวนาช่วง “แก้โจทย์ช่องว่างระหว่างวัยด้วยความเข้าใจการสื่อสารในโลกดิจิทัล”

การบอกเล่าและแบ่งปันประสบการณ์การสื่อสารกับสมาชิกครอบครัวต่างวัย และวิธีการสื่อสารเพื่อรับมือกับความขัดแย้ง จากแขกรับเชิญต่างรุ่น (Gen) 4 ท่าน 

 

เรไรรายวัน

 

คุณต้นหลิว-เรไร สุวีรานนท์ จากเพจ “เรไรรายวัน” เพจเขียนไดอารี่เล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว

“เคล็ดลับที่ช่วยให้การสื่อสารและความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับคุณตาคุณยายราบรื่นคือ การพยายามทำความเข้าใจความคิดที่แตกต่างจากเรา และการที่เรากล้าพูดว่าเราคิดอย่างไร เพราะเราสนิทกับคุณตาคุณยายมาตั้งแต่เด็ก และคุณตาคุณยายก็รับฟัง เราจึงกล้าจะพูดหรืออธิบายในเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยเหมือนคุณตาคุณยายเป็นเพื่อน 

นอกจากนี้คือ การทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น เราสอนคุณตาคุณยายใช้โซเชียลมีเดียจากโทรศัทพ์มือถือ หรือชวนคุณตาคุณยายไปเที่ยวทะเลดำน้ำด้วยกัน ซึ่งทั้งสองก็เปิดใจที่จะเรียนรู้โลกของเรา ซึ่งจริงๆ แล้วผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมกับวัยอย่างเราได้ แค่ลองสร้างโอกาสให้พวกท่าน พอมีกิจกรรมทำด้วยกัน เราทำให้เราพูดคุยกัน เข้าใจกันมากขึ้น”

 

ตายายสอนหลาน

 

คุณเก้า-วรเกียรติ นิ่มมาก จากเพจ “ตายายสอนหลาน” เล่าประสบการณ์การทำงานร่วมกับคุณตาคุณยายของตน  

“ถ้าเรามองว่าผู้สูงอายุต้องอยู่บนหิ้งตลอด ก็จะทำให้เรารู้สึกห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผมคิดว่าคุณตาคุณยายเหมือน ‘พี่รหัส’ ที่เราจะมีความเคารพว่าเขาเป็นรุ่นพี่ แต่ก็มีความเป็นเพื่อนที่สามารถพูดคุยบอกเล่าหรือทำกิจกรรมด้วยกันได้ แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้สูงวัยกับเรามีชุดความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ถ้าเรายังอยากรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับอีกฝ่าย เราต้องพยายามปรับจูน โดยอาจเริ่มต้นจากการหาสิ่งที่ชอบคล้ายหรือเหมือนกันมาเป็นสื่อกลาง หรือการช่วยเหลือในสิ่งที่เรารู้ เพราะผู้ใหญ่จะเริ่มเปิดใจกับเราหากเราสามารถช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ เขาจะเริ่มเกิดความไว้วางใจ 

คุณตาคุณยายของผมมีความเป็นผู้สูงวัยยุคใหม่ที่เปิดใจและเปิดโลก อยากมีส่วนร่วมกับผมเมื่อผมชวนเขาถ่ายคลิปวิดีโอ หรือทำสิ่งแปลกใหม่ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่ามากขึ้น แต่เราก็ต้องเข้าใจขีดจำกัดของผู้สูงวัยด้วยว่า เขาทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน 

ส่วนรุ่นลูกอย่างเราสิ่งที่ต้องการจากผู้ใหญ่ในครอบครัวคือ คำพูดสนับสนุนให้กำลังใจในสิ่งที่เราฝันหรืออยากทำ หากพูดไปแล้วถูกตอบกลับมาว่า “ไม่ดี อย่าทำ เสียเวลา” อยู่เรื่อยๆ สายใยก็จะถูกลดทอนลง เกิดช่องว่างที่ทำให้พูดคุยกันน้อยลงและมีอคติเกิดขึ้นในที่สุดได้

หากเราทุกคนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติกัน รู้สิทธิ หน้าที่ และบทบาทของตัวเอง ปัญหากระทบกระทั่งทางวาจาและทางโลกโซเชียลมิเดียก็จะน้อยลง”

 

เลี้ยงลูกนอกบ้าน

 

หมอโอ๋-ผศ.พญ จิราภรณ์ อรุณากูร จากเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” เล่าถึงประสบการณ์การรับมือการโต้เถียงปะทะคารมกันในเพจของคนต่างยุคสมัยในการเลี้ยงดูบุตรหลาน รวมถึงปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ลูก

“ในเพจมักจะเห็นการโต้เถียงกันทางความคิดของพ่อแม่ระหว่างค่านิยมการเลี้ยงลูกแบบเก่ากับแบบใหม่ กับเรื่องของเยาวชน โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งโดยส่วนตัวเรามองว่าเป็นเรื่องดีที่เพจของเราเป็นพื้นที่ถกเถียง ซึ่งเราก็พยายามถ่ายทอดในมุมมองของหมอเวชศาสตร์วัยรุ่น เป็นกระบอกเสียงให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่า เรากับเด็กเติบโตมากับชุดคุณค่าคนละชุดกันแทบจะทุกเรื่อง เช่น เรื่องการอยู่ก่อนแต่ง เรื่องอนาคตของลูกกับความหวังของพ่อแม่ ซึ่งการแก้ปัญหาคือ เราก็ต้องมานั่งคิดว่าสิ่งใดที่แต่ละคนให้คุณค่า กับการทำความเข้าใจและปรับตัวในโลกที่หมุนไปทุกวัน 

“วิธีสื่อสารทำความเข้าใจกันคือ ไม่ควรคุยช่วงที่ต่างฝ่ายต่างอารมณ์ปะทุ และไม่ควรคิดว่า “ช่างมันเถอะ ไม่ต้องคุยก็ได้” เพราะความคิดนี้เป็นตัวบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระยะยาว เราควรมองว่านี่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ไม่มีใครถูกหรือผิดอยู่ตลอด สิ่งสำคัญคือ อย่าใช้อารมณ์คุยกัน และอย่าถอดใจที่จะคุยกัน มองในแง่ดีคือ การทำเรายังถกเถียงกัน หมายความว่า อีกฝ่ายยังเห็นว่าเราสำคัญกับเขา และอย่าให้อำนาจทางวัยมาขัดขวาง ว่าเด็กต้องฟังผู้ใหญ่ ซึ่งเราอาจจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากเด็กก็ได้

ความเห็นอกเห็นใจกัน (Empathy) การรับฟังด้วยหัวใจ (Expressive Communication) การให้ความเท่าเทียม (Equality) การสื่อสารจากใจ (I Message) และการให้พื้นที่ส่งเสียง (Echo Chamber) ร่วมกับแนวคิดที่ว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน คือ พื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่จะทำให้เราทุกคนพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตามโลกอยู่เสมอ ที่สำคัญคือ การสื่อสารกันด้วยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์หรืออคติ และอย่าถอดใจที่จะสื่อสารปรับความเข้าใจกัน จะช่วยให้โลกแห่งความต่างกลมกลืนไปด้วยกันได้”

 

เจ้าของร้านกาแฟสุดฮิป Mother Roaster

 

ป้าพิม-คุณเพลินพิศ เรียนเมฆ เจ้าของร้านกาแฟสุดฮิป Mother Roaster ผู้สูงวัยผู้ทำตามความฝันของตนเองในวัย 70 ปี ที่ต้องพบปะกับลูกค้าวัยรุ่น รวมถึงการเป็นคุณย่าของหลานๆ ที่มักมีปัญหาเรื่องเพศและเรื่องการใช้ชีวิตของคนต่างยุคมาให้ถกเถียง 

“เราเป็นคนค่อนข้างทันสมัย รู้เท่าทันโลกและสังคม เพราะเรามีลูกและหลาน จึงเข้าใจดีกว่าช่องว่างระหว่างวัยเป็นอย่างไร เด็กมักคิดว่าผู้ใหญ่ดูคุยด้วยยาก อยู่บนหิ้ง จึงมักไม่กล้าพูดกับผู้ใหญ่ตรงๆ ซึ่งปัจจัยก็อยู่ที่ตัวผู้ใหญ่มีความสนิทสนมกับลูกหลานมากแค่ไหน และที่สำคัญคือไม่ควรพูดกับเด็กว่า “ฉันรู้ ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” ส่วนเด็กหากอยากจะสื่อสารกับผู้ใหญ่ ควรใช้ภาษาง่ายๆ ที่เข้าใจง่าย และพูดตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม และไม่ควรพูดกับผู้สูงวัยว่า “แก่แล้ว ไม่เข้าใจหรอก” 

เราคิดว่าแต่ละคนก็มีชุดความคิดไม่เหมือนกัน ทุกคนคิดในสิ่งที่ตัวเองคิด และทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่หากเราเปิดใจมองอย่างรอบด้านและเข้าใจ ก็จะทำให้เราได้เรียนรู้ และสนใจที่จะอยากรู้ว่าเด็กแต่ละวัยเขามีความคิดอย่างไร ทำอย่างไรให้เราได้เรียนรู้จากเขา และเขาได้เรียนรู้จากเรา สิ่งที่จะช่วยได้ดีคือ หยุด และฟัง กันทั้งสองฝ่าย

Selected For You

Related

Most View

Recommend